วันอาทิตย์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2553

กำเนิดโรงพยาบาลดำเนินสะดวก


มองย้อนอดีตไปเมื่อประมาณห้าสิบกว่าปีก่อน ในสมัยนั้นอำเภอดำเนินสะดวกยังไม่มีสถานพยาบาลที่ให้บริการด้านสุขภาพแก่ประชาชนในพื้นที่ เมื่อมีผู้เจ็บไข้ได้ป่วยก็ต้องเดินทางไปรักษายังโรงพยาบาลราชบุรี โรงพยาบาลสมุทรสงคราม หรือโรงพยาบาลโพธาราม

และจากการคมนาคมที่ยังไม่สะดวกเหมือนปัจจุบัน  เนื่องจากไม่มีทางรถยนต์ ประชาชนส่วนใหญ่ต้องใช้การเดินทางโดยทางเรือเป็นเส้นทางสัญจรหลัก ทำให้มีความยากลำบากต่อการเข้าถึงบริการ ประกอบกับในระยะนั้น (พ.ศ.2500-2501) ประเทศไทยกำลังประสบกับปัญหาของความยากจน และความขาดแคลนบริการขั้นพื้นฐาน อีกทั้งยังมีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ และอหิวาตกโรค ซึ่งจังหวัดราชบุรีก็เป็น 1 ใน 12 จังหวัด ที่ถูกประกาศให้เป็นเขตติดต่อโรคร้ายแรง เป็นเวลาประมาณ 1 เดือน

ในช่วงนั้นมีผู้ป่วยด้วยโรคอหิวาตกโรคเป็นจำนวนมาก พบว่ามีผู้ป่วยกว่า 6 พันคน และเสียชีวิตกว่า 900 คน ทำให้ทางราชการและประชาชนชาววอำเภอดำเนินสะดวก ตระหนักถึงความสำคัญของการมีบริการรักษาพยาบาลแผนปัจจุบันอยู่ในท้องถิ่นและใกล้ชุมชน

จากเหตุการณ์ดังกล่าวในปี พ.ศ.2502 นายอำเภอชาญ เวชเจริญ นายอำเภอดำเนินสะดวก จึงได้ร่วมกับพ่อค้า คหบดี และประชาชนชาวอำเภอดำเนินสะดวกได้รวบรวมที่ดินที่มีผู้บริจาครวมกันได้ประมาณ 20 ไร่ และทรัพย์สินที่ประชาชนบริจาคเพื่อใช้ก่อสร้างอาคารต่างๆ พร้อมทั้งร่วมมือ ร่วมแรงกันก่อสร้างโรงพยาบาลประจำอำเภอดำเนินสะดวก และประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ ขึ้นในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2503 โดยมีนายแพทย์สมนึก วิทิศวรการ ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการคนแรกของโรงพยาบาล

โรงพยาบาลดำเนินสะดวก เกิดขึ้นได้เพราะการริเริ่มของนายอำเภอ ร.ต.ท.ชาญ เวชเจริญ ท่านย้ายมาจากอำเภอบางพลี จ.สมุทรปราการ ดำรงตำแหน่งนายอำเภอดำเนินสะดวก เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2501
สถานพยาบาลในอำเภอดำเนินสะดวกในขณะนั้น ทั้งอำเภอมีสถานีอนามัย 1 แห่ง สถานพยาบาลของเอกชน 2-3 แห่ง นอกจากนี้จะมีแพทย์ประจำตำบลอยู่ตำบลละ 1 คน โดยสรุปแล้วบุคลากรทางการแพทย์ของอำเภอดำเนินสะดวก ซึ่งเป็นฝ่ายข้าราชการไม่มีผู้ใดเลยที่จบปริญญาทางการแพทย์และการพยาบาล ประชากรจำนวน 7-8 หมื่นคนของอำเภอดำเนินสะดวก เมื่อเกิดอาการเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้น ไม่สามารถเดินทางไปรับบริการจากโรงพยาบาลของจังหวัด หรือของอำเภออื่นๆ ได้ ก็ต้องรับบริการจากสถานพยาบาลและบุคลากรภายในอำเภอตามที่กล่าวมาข้างต้น หรือมิฉะนั้นก็ต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลจากหมอแผนโบราณ

ร.ต.ท.ชาญ เวชเจริญ ทราบถึงสภาพปัญหาการขาดแคลนในด้านการแพทย์ และการรักษาพยาบาล จึงได้ริเริ่มที่จะจัดตั้งโรงพยาบาลดำเนินสะดวกขึ้น ได้ทำการปรึกษากับหัวหน้าส่วนราชการระดับอำเภอ และพ่อค้าประชาชน ผู้นำท้องถิ่น ซึ่งในตอนต้นปี พ.ศ.2502 ได้ร่วมมือกันจัดหาทุนทรัพย์เพื่อสมทบเป็นทุนในการก่อสร้าง จัดหาที่ดินที่เหมาะสม เพื่อใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างโรงพยาบาล และได้เสนอขอรับการสนับสนุนไปยังกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้รับความร่วมมือด้วยดีจากทุกฝ่าย

ร.ต.ท.ชาญ เวชเจริญ ประสบความสำเร็จในการสร้างโรงพยาบาลดำเนินสะดวก ก็เพราะชาวดำเนินสะดวกต้องการบริการทางการแพทย์ และการรักษาพยาบาลที่ทันสมัย ทันท่วงที ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปรักษาที่โรงพยาบาลของจังหวัด ซึ่งต้องใช้เวลาเดินทางราว 2-3 ชั่วโมง ซึ่งถ้าผู้ป่วยมีอาการหนัก อาจทำให้เสียชีวิตก่อนได้รับการรักษาก็เป็นได้

โรงพยาบาลดำเนินสะดวก เริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี พ.ศ.2503 โดยมีนายแพทย์สมนึก วิทิศวรการ ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลคนแรกและควบคุมการก่อสร้างด้วย  และก่อนที่โรงพยาบาลนี้จะเปิดอย่างเป็นทางการ ร.ต.ท.ชาญ เวชเจริญ ก็ได้ย้ายไปรับราชการที่จังหวัดอื่น เมื่อปี พ.ศ.2504 ซึ่งชีวิตในราชการของท่านเจริญก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ ตำแหน่งสุดท้ายก่อนท่านจะเกษียณอายุราชการ คือ ตำแหน่ง  ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง ปัจจุบันถึงแก่กรรมแล้ว

ต่อมาในปี พ.ศ.2505 โรงพยาบาลได้เปิดดำเนินการอย่างไม่เป็นทางการ จนกระทั่งในปี พ.ศ.2507 สมัยนายแพทย์สงวน ขันทอง เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล จึงได้จัดให้มีการเปิดอย่างเป็นทางการขึ้นโดยมี พระบำราศนราดูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานในพิธีเปิด

ประวัติ ร.ต.ท.ชาญ เวชเจริญ โดยสังเขป
เกิดเมื่อวันที่ 18 ก.พ.2457 เป็นบุตรของนายไผ่-นางเงิน เวชเจริญ เกิดที่อำเภอวังกระโจม จ.นครนายก
สมรสกับ นางสง่า กิตติรักษ์ มีบุตร-ธิดา รวม 4 ท่าน
ประวัติการศึกษา
  • จบธรรมศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง(ในสมัยนั้น)
ประวัติราชการ
  • เริ่มรับราชการเป็นอักษรเลข จ.นครนายก
  • ปลัดอำเภอองครักษ์ สายงานสอบสวน กระทั่งสายงานดังกล่าวโอนไปขึ้นกับกรมตำรวจ จึงได้รับยศร้อยตำรวจโท
  • ปลักอำเภอเมืองชัยนาท
  • นายอำเภอเมืองแพร่ อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่
  • นายอำเภอทุ่งช้าง อำเภอปัว จังหวัดน่าน
  • นายอำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี
  • นายอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ
  • นายอำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี
  • ปลัดจังหวัดน่านและนายกเทศมนตรี เทศบาลเมืองน่าน
  • ผู้ตรวจราชการกรมการปกครอง
  • รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช
  • ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง เกษียณอายุเมื่อ พ.ศ.2518

ที่มา :
โรงพยาบาลดำเนินสะดวก. (2553). กึ่งศตวรรษ 50 ปี โรงพยาบาลดำเนินสะดวก. นครปฐม : เพชรเกษม พริ้นติ้ง กรุ๊ป. (หน้า 30-41)

4 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ17 กรกฎาคม 2556 เวลา 21:07

    ทำไมยังทำงานสบายกว่ารนอื่น

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ17 กรกฎาคม 2556 เวลา 21:12

    พยาลบางคนเอาเวลาที่ว่างกว่าคนอื่นและสบายมาทำสิ่งที่แย่โดยการตามราวีผู้อื่น

    ตอบลบ
  3. รักษาใส่ท่อคนแก่ยังงัยจนทำให้ยายของฉันต้องจากไป รู้มั้ยว่าการสูญเสียคนที่รักที่สุดเป็นงัย มันเจ็บปวดมากตึกอายุรกรรมหญิงโรงพยาบาลดำเนินสะดวก หมอไม่มีประสิทธิภาพเลย ไม่เก่ง ผู้ช่วยก็ดูฝึกหัด จะย้ายโรงพยาบาลก็ไม่ประสานงานให้ แย่มากๆโรงพยาบาลนี้ เวรกรรมทำหับคนแก่

    ตอบลบ
  4. รักษาใส่ท่อคนแก่ยังงัยจนทำให้ยายของฉันต้องจากไป รู้มั้ยว่าการสูญเสียคนที่รักที่สุดเป็นงัย มันเจ็บปวดมากตึกอายุรกรรมหญิงโรงพยาบาลดำเนินสะดวก หมอไม่มีประสิทธิภาพเลย ไม่เก่ง ผู้ช่วยก็ดูฝึกหัด จะย้ายโรงพยาบาลก็ไม่ประสานงานให้ แย่มากๆโรงพยาบาลนี้ เวรกรรมทำหับคนแก่

    ตอบลบ